ทุกคนคงเคยได้ยินว่าไม่ควรรับประทานยาพร้อมกับนม แต่ก็ยังมีข้อสงสัยเกิดขึ้นว่า เหตุผลใดถึงไม่ให้ทานคู่กัน เป็นอันตรายมากไหมหากทานพร้อมกัน วันนี้มาไขข้อสงสัยเกี่ยวกับการทานห้ามทานยาพร้อมนมกัน
ทำไมถึงไม่ควรทานยากับนม
“นม” มีส่วนประกอบของแคลเซียมสูง หากรับประทานร่วมกับยาบางชนิดจะเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาและนม หรือเรียกง่ายๆ ว่า ยาตีกันกับนม เนื่องจากแคลเซียมในนมจะไปทำปฏิกิริยากับโครงสร้างของยา ทำให้ได้สารประกอบที่ไม่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและไม่ถูกดูดซึมหรือลดการดูดซึมยา หรืออาจทำให้ยาหมดฤทธิ์ ส่งผลต่อประสิทธิภาพของยาในการรักษาโรคได้ลดลง
นมชนิดไหนบ้างห้ามทานพร้อมยา
1.นมจากสัตว์ ได้แก่ นมแม่ นมวัว นมแพะ นมแกะ
2.นมจากพืช ได้แก่ นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ นมข้าวโพด
3.ผลิตภัณฑ์จากนม ได้แก่ ชีส โยเกิร์ต ไอสกรีม เป็นต้น
ทั้งในรูปแบบผง นมพาสเจอร์ไรซ์ (นมสดผ่านการฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิ 63-65 องศาเซลเซียส) นมสเตอริไลซ์ (นมสดที่ผ่านการฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิ 118 องศาเซลเซียส) และนมยูเอชที (นมสดผ่านการฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิ 135-150 องศาเซลเซียส) ด้วย
หากต้องการทานนำควรทำอย่างไร
หากจะดื่มนมหรือบริโภคผลิตภัณฑ์นม ควรรับประทานห่างจากยา 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้ยาและแคลเซียมในนมเกิดปฏิกิริยากันในกระเพาะอาหารหรือที่ลำไส้เล็ก เวลา 2 ชั่วโมงก่อนและหลังรับประทานยา จึงมากเพียงพอที่จะทำให้นมและยาไม่เคลื่อนที่ไปพบกันในระบบทางเดินอาหาร
วิธีรับรับประทานยาให้เกิดประสิทธิผลของยาสูงที่สุด
ทานพร้อมน้ำเปล่าเท่านั้น
การรับประทานเพื่อให้ได้ผลที่สุด คือทานพร้อม “น้ำเปล่า” เนื่องจากน้ำเปล่าทำให้ตัวยาแตกตัว ละลายและดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีที่สุด เนื่องจากน้ำเปล่าไม่มีปริมาณของแร่ธาตุหรือสารอาหารใดสูงจนเกิดปฏิกิริยากับยาและลดประสิทธิผลของยาได้ ดังนั้นแม้ในกรณีที่ไม่ทราบว่ายาสามารถรับประทานพร้อมนมหรือไม่ การรับประทานยานั้นพร้อมน้ำเปล่าก็ไม่ทำให้เกิดปัญหาใดๆ หากผู้ป่วย เช่น เด็ก มีปัญหาในการกินยาจำเป็นต้องผสมยาเพื่อให้ช่วยให้ทานได้ง่ายขึ้น หรือกลืนได้สะดวกขึ้น แนะนำให้ผสมยากับน้ำเปล่า น้ำหวานหรือน้ำผลไม้แล้วรับประทานยาที่ผสมนั้นให้หมดเพื่อให้ได้ปริมาณยาครบถ้วน และไม่ลืมที่จะรับประทานยาที่ผสมนั้นให้ห่างจากนมประมาณ 2 ชั่วโมง
ทราบกันแล้วใช่ไหมเหตุใดจึงห้ามรับประทานยาพร้อมนม เพราะนมจะทำไปลดทอนประสิทธิภาพของยา จึงควรหลีกเลี่ยงการทานนมพร้อมยาเด็ดขาด ยาจะได้ถูกดูดซึมไปใช้อย่างเต็มที่ และการรับระทานยากับน้ำเปล่าเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดและส่งผลดีที่สุดต่อผู้ป่วย