“แหนแดง” เป็นพืชที่หลายคนกำลังให้ความสนใจและหันมาปลูกมากขึ้น ด้วยคุณประโยชน์มากมายของแหนแดง โดยเฉพาะในแง่ของการเกษตร ที่สามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนสูง หากใครกำลังจะตัดสินใจปลูกลองมาทำความรู้จักและประโยชน์ของแหนแดงดูก่อนคะ
แหนแดงคืออะไร
แหนแดงเป็นเฟินน้ำชนิดหนึ่ง ภายในโพรงใบของแหนแดง จะมีสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินอาศัยอยู่ ซึ่งสาหร่ายชนิดนี้ มีความสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้สูงถึง 4-5 % เมื่อเทียบกับพืชตระกูลถั่ว ปัจจุบัน ทางกรมวิชาการเกษตรได้มีการนำพันธุ์จากต่างประเทศมาปรับปรุง จนได้สายพันธุ์ อะซอลล่า ไมโครฟิลล่า (Azolla microphylla) ที่ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์พื้นเมืองถึง 10 เท่า
ประโยชน์ของแหนแดง
1.ช่วยบำบัดน้ำเสีย
แหนแดงเป็นพืชลอยน้ำที่มีความสามารถในการช่วยบำบัดน้ำเสียและลดความสกปรกของน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากการศึกษาในการบำบัดน้ำเสียจากฟาร์มสุกรด้วยแหนแดง พบว่าแหนแดงสามารถเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำเสียได้ โดยสามารถลดค่าความสกปรกในรูปของ BOD, TKN, NO, และ PO ได้ประมาณ 6-98% ภายในช่วงเวลา 3 สัปดาห์ นับเป็นวิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
2.แหนแดงแห้ง ใช้เป็นปุ๋ยได้
เราสามารถเก็บรวบรวมแหนแดงมาตากแห้ง โดนการผึ่งแดดประมาณ 2 วัน ค่าธาตุอาหารลดลงเล็กน้อยราว 0.5% เท่านั้น แล้วเก็บไว้ในกระสอบ โดยทั่วไปจะใช้แหนแดงแห้งในสัดส่วน 20 กรัมต่อวัสดุเพาะปลูก 1 กิโลกรัม แหนแดงแห้ง 6 กิโลกรัม สามารถใช้แทนปุ๋ยยูเรียประมาณ 10-12 กิโลกรัม
3. ใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์
แหนแดงมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ประกอบด้วยโปรตีน ไขมัน เซลลูโลส และแร่ธาตุมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของสัตว์ จึงเหมาะสำหรับใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น ปลา เป็ดไก่ และหมู สามารถใช้แหนแดงทั้งแบบสดและแห้ง
4.ใช้เป็นปุ๋ยในนาข้าว
แหนแดงสามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าว ในช่วงก่อนปรับดินโดยหว่านแหนแดงและไถกลบ และช่วงหลังดำนา โดยแหนแดงจะทำหน้าที่ช่วยบดบังแสงแดดและป้องกันการเกิดวัชพืชในนาข้าว สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวได้เทียบเท่ากับการใส่ปุ๋ยยูเรียอัตรา 4.8 กิโลกรัม/ไร่
5.นำมารับประทาน
โดยใช้แหนแดงที่ยังไม่โตเต็มที่หรือยังมีสีเขียวอยู่มาใช้ นำมาประกอบเมนู เช่น ลวกจิ้มน้ำพริก ผัดใส่หมู แกงเลียง แกงอ่อม เป็นต้น การทานแหนแดงควรทำให้สุกทุกครั้ง เพราะอาจมีพยาธิหรือไข่พยาธิติดมา
แหนแดงเป็นพืชที่เจริญเติบโตเร็วและยังเป็นปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูงมาก หากนำมาใช้จะสามารถช่วยลดประมาณการใช้ปุ๋ยยูเรีย หรือปุ๋ยเคมีได้มาก ประหยัดและปลอดภัยอีกด้วย